medicalfocusth

หญิงไทยยุคใหม่ ใส่ใจหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเอง
หญิงไทยยุคใหม่ ใส่ใจหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเอง
“มะเร็งเต้านม” ภัยร้ายที่พบเป็นอันดับหนึ่งของหญิงไทย สตรีทุกคนล้วนเป็นผู้มีความเสี่ยง ทางดีที่สุดเพื่อช่วยลดการเสียชีวิตคือตรวจค้นหาและวินิจฉัยให้เจอตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งนำไปสู่การรักษาให้หายขาดได้


นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของหญิงไทย จากสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2559-2561 พบอัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านม 34.2 รายต่อประชากร 1 แสนคน หรือ 17,043 รายต่อปี เสียชีวิตวันละ 13 คน หรือ 4,654 คนต่อปี (สถิติสาธารณสุข พ.ศ.2562 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญและใส่ใจตรวจเต้านมด้วยตนเองสม่ำเสมอ และเข้ารับการตรวจคัดกรองค้นหาความเสี่ยงมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสรักษาให้หายและลดโอกาสการเสียชีวิต


แพทย์หญิงวิภาวี สรรพสิทธิ์วงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์เต้านม สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการหรือสัญญาณเตือนของมะเร็งเต้านมที่ผู้หญิงทุกคนสามารถสังเกตและตรวจหาความผิดปกติได้ด้วยตนเอง ได้แก่ การมีก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีรอยบุ๋ม ผิวหนังบวม แดงขึ้น หัวนมบุ๋มหรือถูกดึงรั้ง มีผื่นหรือแผลที่เต้านมและหัวนม มีน้ำหรือเลือดไหลออกจากหัวนม หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ทำได้ง่าย ๆ โดยใช้วิธีการดู การคลำ และการกด เพื่อสังเกตความผิดปกติของเต้านม

การดู แนะนำให้ทำในท่ายืน โดยยืนหน้ากระจก วางแขนสองข้างแนบลำตัว สังเกตดูรูปร่าง ขนาด ระดับหัวนม สีผิว ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ ดูขนาด รูปร่าง และลักษณะผิดปกติ เช่น รอยบุ๋ม รอยนูน แผล หรือการอักเสบ วางมือทั้งสองข้างไว้บนสะโพก กดน้ำหนักลงหรือเกร็งหน้าอก โน้มตัวไปข้างหน้า ตรวจดูความผิดปกติของเต้านมทั้งสองข้าง

การคลำ แนะนำให้ทำในท่านอน โดยนอนหงาย ใช้หมอนเล็ก ๆ สอดใต้ไหล่ข้างที่จะตรวจ ยกมือข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะ ใช้ปลายนิ้วมือด้านฝ่ามือ 3 นิ้ว ได้แก่ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง กดเต้านมทั้งสองข้าง เริ่มจากกดเบา ๆ และกดแรงขึ้น 3 ระดับ ให้ทั่วทั้งเต้านมและรักแร้เพื่อค้นหาก้อนที่อยู่ใกล้ผิวหนังหรือต่อมน้ำเหลืองว่าโตหรือไม่ กดลานหัวนมเบา ๆ ดูเลือดหรือน้ำเหลืองที่ไหลออกจากหัวนม หรือคลำในขณะอาบน้ำ ให้ตรวจขณะที่ตัวเปียกหรือฟอกสบู่ ผิวหนังจะลื่นทำให้ตรวจได้ง่าย ยกมือขึ้นวางบนศีรษะซ้ายขวาสลับกันเพื่อตรวจเต้านมทีละข้าง วิธีการตรวจเช่นเดียวกับท่านอน

แบบแผนในการคลำมีด้วยกัน 3 แบบ แบบที่ 1 คลำเป็นก้นหอยหรือตามเข็มนาฬิกา โดยเริ่มคลำจากส่วนบนใกล้หัวนม วนเลื่อนนิ้วมือตามเข็มนาฬิกาเป็นวงกลม ขยายวงออกไปเรื่อย ๆ จนถึงฐานเต้านมและรักแร้ สำรวจเนื้อเยื่อใต้หัวนม กดลานหัวนมเบา ๆ ดูสิ่งคัดหลั่ง แบบที่ 2 คลำตามแนวนอนขึ้นลงขนานกับลำตัว โดยเริ่มคลำจากส่วนล่างด้านนอกเต้านมเป็นแนวยาวถึงกระดูกไหปลาร้า โดยใช้นิ้วมือทั้ง 3 นิ้ว คลำในแนวขึ้นลงสลับกันไปมาให้ทั่วทั้งเต้านม แบบที่ 3 คลำเป็นรัศมีรอบเต้านมหรือรูปลิ่ม โดยเริ่มคลำจากส่วนบนเต้านมจนถึงฐาน ขยับนิ้วมือจากฐานถึงหัวนมเป็นรัศมีรอบด้านถึงกระดูกไหปลาร้าและบริเวณรักแร้


การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เป็นวิธีที่ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้รู้ลักษณะเต้านมปกติของตนเอง และพบความผิดปกติได้ไว การตรวจเต้านมด้วยตนเองควรทำเป็นประจำสม่ำเสมอประมาณเดือนละครั้ง และรับการตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ได้ปีละหนึ่งครั้ง การตรวจให้พบเจอมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก พบแพทย์ได้เร็ว การรักษาจะได้ผลดีและมีโอกาสหายขาดสูง ทั้งนี้ การค้นพบสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในเต้านมนั้นไม่ได้จัดเป็นมะเร็งทั้งหมด อาจเป็นเพียงถุงน้ำหรือเนื้องอกธรรมดาก็ได้ ท่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้เรื่องโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง http://allaboutcancer.nci.go.th/ เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง https://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ และ Line : NCI รู้สู้มะเร็ง