medicalfocusth

กรมอนามัย หนุนคลอดธรรมชาติ ย้ำผ่าคลอดควรเป็นไปตามข้อบ่งชี้ หลังพบอัตราการผ่าคลอดของหญิงตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น
กรมอนามัย หนุนคลอดธรรมชาติ ย้ำผ่าคลอดควรเป็นไปตามข้อบ่งชี้ หลังพบอัตราการผ่าคลอดของหญิงตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนให้หญิงท้องคลอดธรรมชาติ รวมทั้ง ขอให้สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ยึดหลักการผ่าตัดคลอดของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย หลังพบอัตราการผ่าตัดคลอดในสถานพยาบาลของรัฐอยู่ในเกณฑ์สูงถึงร้อยละ 30 – 50 และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการศึกษาและการประมวลผลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) พบว่า การผ่าตัดคลอดในประเทศไทยและนานาชาติมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้ง ยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น สำหรับในประเทศไทย พบว่า อัตราการผ่าตัดคลอดในสถานพยาบาลของรัฐอยู่ในเกณฑ์สูงเช่นเดียวกัน คือ ร้อยละ 30 - 50 ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนให้สตรีตั้งครรภ์เลือกใช้วิธีการคลอดธรรมชาติ แต่หากต้องผ่าตัดคลอดควรเป็นไปตามข้อบ่งชี้ ภายใต้ประกาศ เรื่อง การผ่าตัดคลอด (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2566)

นายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้อำนวยการกองมารดาและทารก กล่าวเพิ่มเติมว่า รายละเอียดข้อบ่งชี้ของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มีดังนี้ 1) การผ่าตัดคลอด ควรทำในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คือ เมื่อทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรงที่จะทำให้การคลอดทางช่องคลอดมีความเสี่ยง 2) ประชาชนควรทราบว่า การผ่าตัดคลอดมีความเสี่ยงต่อทั้งแม่มารดาและทารกมากกว่าการคลอดทางช่องคลอด ซึ่งอาจจะเป็นผลที่เกิดจากการผ่าตัดหรือการให้ยาระงับความรู้สึก 3) ก่อนการผ่าตัดคลอด สตรีครรภ์ทุกราย ควรได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเหมาะสมเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าตัดคลอดจากบุคลากรทางการแพทย์จนเข้าใจดี และลงนามยินยอมเข้ารับการผ่าตัด 4) การผ่าตัดคลอดตามคำร้องขอของมารดา (maternal request) เป็นการผ่าตัดคลอดที่เกิดจากความต้องการของสตรีตั้งครรภ์ หรือญาติโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สูตินรีแพทย์ควรสอบถามเหตุผลรับฟังความต้องการ อภิปรายความเสี่ยงและประโยชน์ของการผ่าตัดคลอดให้สตรีตั้งครรภ์รับทราบจนเข้าใจดีแล้ว หากยังยืนยันที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้ลงนามในเอกสารแสดงความจำนง และใบยินยอมรับการผ่าตัดกรณีที่สูตินรีแพทย์ไม่เห็นด้วยที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้แนะนำหรือส่งต่อสตรีตั้งครรภ์ไปพบสูตินรีแพทย์ท่านอื่น

“5) การผ่าตัดคลอดแบบวางแผนล่วงหน้า (scheduled elective cesarean section) เป็นการทำผ่าตัดที่มีการเตรียมการและระบุวัน เวลาไว้ชัดเจน แนะนำให้ทำผ่าตัดที่อายุครรภ์ตั้งแต่ 39 สัปดาห์เป็นต้นไป 6) การที่แพทย์แนะนำหรือชักจูงให้สตรีตั้งครรภ์มาผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งขี้ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดถือเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมทางการแพทย์ 7) อัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมของแต่ละสถานพยาบาลอาจแตกต่างกัน ขึ้นกับบริบทและสถานการณ์ที่รับผิดชอบ และ 8) สถานพยาบาล หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องควรเก็บข้อมูลการคลอดแบบ Robson classification เพื่อประโยชน์ในการประเมินและติดตามข้อมูลสำหรับการวางแผนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัด ทั้งนี้ การดำเนินงานตามหลักการดังกล่าว ก็เพื่อดูแลปกป้องสุขภาพมารดาและทารก และให้เกิดความปลอดภัยอย่างสูงสุด” ผู้อำนวยการกองอนามัยมารดาและทารก กล่าว