medicalfocusth

ม.มหิดลชี้โรคกระดูกพรุนป้องกันดีกว่ารักษา ดูแลด้วยแคลเซียม-วิตามินดี-ออกกำลังกาย
ม.มหิดลชี้โรคกระดูกพรุนป้องกันดีกว่ารักษา ดูแลด้วยแคลเซียม-วิตามินดี-ออกกำลังกาย
ในบรรดาโรคที่มักมาพร้อมกับความชรา "โรคกระดูกพรุน" คือ หนึ่งในภัยเงียบที่น่ากลัวที่สุด

จึงควรมีการเตรียมพร้อมเพื่อเฝ้าระวังอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะกระดูกเปราะบางจนเสี่ยงต่อการแตกหัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ต้องสูญเสียโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในช่วงบั้นปลายชีวิต

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สารเนตร์ ไวคกุล ที่ปรึกษาภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงภารกิจเพื่อชุมชนและประเทศชาติที่ผ่านมา ซึ่งได้ฝากผลงานวิจัยเพื่อมอบองค์ความรู้อันเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล

จากการนำทีมลงพื้นที่สำรวจชุมชนที่อยู่ในเขตบางกอกน้อย และชุมชนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน พบนิมิตรหมายที่ดีซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า โรคกระดูกพรุนสามารถควบคุมให้ดีขึ้นได้

จากผลการสำรวจที่พบว่าจำนวนประชากรในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 50 มีความรู้พอสมควรเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน พร้อมเรียนรู้วิธีป้องกันตนเอง จนสามารถแนะนำบุคคลในครอบครัว และบุคคลรอบข้างได้ประมาณร้อยละ 15

ซึ่ง "โรคกระดูกพรุน" สามารถป้องกันได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้ได้ประมาณ 800 – 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยควรพิจารณาจากแหล่งอาหารประเภท "นม" เป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารแคลเซียมที่ดีที่สุด ซึ่งมีองค์ประกอบของกลุ่มโปรตีน "เคซีน" (Casein) ที่ง่ายต่อการดูดซึม

ในขณะที่การรับประทานกระดูกปลาซึ่งอุดมไปด้วยฟอสฟอรัส (Phosphorus) แต่ดูดซึมได้ยากกว่า และการรับประทานธัญพืช ซึ่งอุดมไปด้วยผลึกแคลเซียมออกซาเลท (Oxalates) และไฟเตท (Phytates) แต่ดูดซึมได้ยากกว่าเช่นกัน

"เพียงดื่มนมให้ได้ 1 - 1.5 ลิตร หรือเนยแข็งประมาณ 2 แผ่น จะได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน โดยไม่ต้องรับประทานแคลเซียมสังเคราะห์"

"อย่างไรก็ดีควรเสริมด้วยการรับประทานวิตามินดี พร้อมให้ร่างกายได้รับแสงแดดในช่วงเวลา 10.00 – 14.00 น.อย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของวิตามินดี ซึ่งปัจจุบันมีจำหน่ายใน 3 ประเภท โดย "วิตามินดี2" เป็นวิตามินที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในราคาเพียงเม็ดละ 1 - 1.50 บาท รับประทานเพียงสัปดาห์ละ 1 เม็ด (20,000 ยูนิต) จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงวัย นอกเหนือไปจาก "วิตามินดี3" และ "วิตามินดีแอคทีฟ" ซึ่งมีราคาสูงกว่านับ 10 เท่า" ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สารเนตร์ ไวคกุล กล่าว

นอกจากนี้ ควรเสริมด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการสร้างมวลกระดูกที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน ซึ่งในผู้สูงวัยควรออกกำลังกายด้วยท่าที่ไม่รุนแรงจนเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำอันตรายต่อระบบเอ็น กระดูก โดยทั่วไปใช้หลักการบริหารโดยการเกร็งกล้ามเนื้อ (Isometric Exercises) ให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยไม่ต้องมีการเคลื่อนไหว เช่น นั่งบนเก้าอี้แล้วยกขาขึ้นเกร็งไว้ เพื่อสร้างแรงกระทำต่อบริเวณขา และต้นขา ให้เกิดการสร้างกระดูกที่ดี

รวมทั้งยังสามารถบริหารในส่วนคอ ด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อคอ โดยใช้มือดันศีรษะแล้วเกร็งกล้ามเนื้อคอสู้แรงมือ หรือจะนั่งตัวตรงแล้วใช้มือสอดเข้าไปตรงบริเวณปกหลังแล้วออกแรงดัน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อกระดูกสันหลัง โดยไม่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหว

สำหรับการบริหารร่างกายอีกแบบ คือ Eccentric Exercises ฝึกกล้ามเนื้อให้มีการหดตัว ในขณะที่ถูกยืดออก เพื่อให้มีแรงส่งผ่านไปยังกระดูก และคอยกระตุ้นทำให้กระดูกแข็งแรง ระหว่างการก้มหน้าขึ้น-ลง และหันคอซ้าย-ขวาอย่างช้าๆ

และอีกวิธีการบริหารแบบ Eccentric Exercises ที่สามารถฝึกได้โดยการยืนหลังเก้าอี้ แล้วใช้มือจับส่วนบนของเก้าอี้ ก่อนย่อตัวลงโดยงอเข่าให้ได้ 90 องศา เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อข้อ แล้วให้พยายามยืนขึ้นช้าๆ ซึ่งเป็นท่าการออกกำลังกายด้วยการลงน้ำหนัก และเคลื่อนไหวช้าๆ เพื่อกระตุ้นการสร้างกระดูกและป้องกัน "ภาวะกล้ามเนื้อลีบ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงวัย

"กรดอะมิโน" ที่ป้องกันกล้ามเนื้อลีบ หรือการสลายของกล้ามเนื้อได้ดี ได้แก่ "วาลีน" (Valine) และ "ลิวซีน" (Leucine) ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบมากในนมและไข่ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สารเนตร์ ไวคกุล ได้ตั้งข้อสังเกตุถึงการเลือกรับประทานอาหารประเภทโปรตีนที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบัน จากการรับประทานโปรตีนมากเกินไป

รวมทั้งอาหารโปรตีนที่ไม่มีประโยชน์ เช่น "คอลลาเจน" ซึ่งหาได้โดยทั่วไป แต่ยังไม่มีการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นการรับประทานโปรตีนที่ไม่มีคุณภาพ โดยขาดกรดอะมิโน "วาลีน" (Valine) และ "ลิวซีน" (Leucine) ที่จะทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง ยิ่งไปกว่านั้นพบรายงานว่าจะส่งผลทำให้ไตทำงานมากขึ้นจนอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวายได้

หากแพทย์ประเมินแล้วว่าเสี่ยงต่อกระดูกหักสูง จะพิจารณาให้ยาต้านการสลายตัวของกระดูก หรือยาต้านโรคกระดูกพรุน (Prolia) ซึ่งตามข้อแนะนำของบัญชียาหลักแห่งชาติ จะต้องเริ่มจาก "ยากิน" ด้วยเหตุผลด้านการบริหารยา และเศรษฐานะของประเทศ

ยกเว้นมีข้อห้ามในการใช้ยากิน จากการพบอาการไตทำงานผิดปกติ และภาวะกระดูกพรุนที่รุนแรง จึงจะพิจารณาใช้ยาฉีด ซึ่ง "Prolia" นอกจากเป็น "ยาต้านการสลายตัวของกระดูก" มีข้อมูลบางส่วนว่าสามารถ "กระตุ้นการสร้างกระดูก" ได้

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สารเนตร์ ไวคกุล ได้กล่าวย้ำถึงการใช้ยาต้านโรคกระดูกพรุน (Prolia) ว่า จะพิจารณาใช้เฉพาะกรณีผู้ป่วยที่ "มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน" เท่านั้น เนื่องจากอาจมีภาวะแทรกซ้อน หรือมีอาการแพ้ เหงือกกรามอักเสบได้

นอกจากนี้ก่อนเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจเลือดดูการทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นต่อหัวใจและสมอง ตลอดจนดูระดับวิตามินดี (25(OH)D) โดยแพทย์จะพิจารณาฉีด Prolia เพื่อรักษาโรคกระดูกพรุนให้กับผู้ป่วยที่มีระดับวิตามินดี (25(OH)D) ที่สูงกว่า 30 ไมโครกรัม

กำหนดฉีด 1 เข็ม ในทุก 6 เดือน ไปพร้อมๆ กับการติดตามผลเจาะเลือดดูผลความคืบหน้าในการทำงานของกระดูก (Bone Marker) ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ตลอดจนตรวจความหนาแน่นของกระดูกอีกครั้งเมื่อครบ 2 ปี หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน จะได้ตรวจอีกครั้งในอีก 2 ปี หลังจากนี้ จะหยุดตรวจเพื่อให้กระดูกได้ปรับตัว ก่อนนัดประเมินอีกครั้ง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สารเนตร์ ไวคกุล กล่าวทิ้งท้ายว่า การรักษาโรคกระดูกพรุน เป็นการ "รักษาตามอาการ" ทางที่ดีที่สุดควรเข้ารับการ "ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก" และป้องกันโรคกระดูกพรุนด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม - วิตามินดี - ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม โดยหวังให้คนไทยทุกคนห่างไกลโรคกระดูกพรุน สู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับสังคมและประเทศชาติต่อไป


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ เขียนข่าว ออกแบบและถ่ายภาพโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร. 0-2849-6210