medicalfocusth

ศูนย์เทคโนโลยีจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการดูแลสุขภาพสายตา ภายใต้แคมเปญ “SIGHT STORY” เรื่องเล่าผ่าน “สายตา” ที่เคลียร์ชัดทุกมุมมอง
ศูนย์เทคโนโลยีจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการดูแลสุขภาพสายตา ภายใต้แคมเปญ “SIGHT STORY” เรื่องเล่าผ่าน “สายตา” ที่เคลียร์ชัดทุกมุมมอง
ศูนย์เทคโนโลยีจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการดูแลสุขภาพสายตาในโครงการ อิสระกับการใช้ชีวิตแบบไร้กรอบ “SIGHT STORY” เรื่องเล่าผ่าน “สายตา” ที่เคลียร์ชัดทุกมุมมอง ร่วมรับฟังเสวนาให้ความรู้ด้านสุขภาพสายตา ในหัวข้อ “นวัตกรรมสุขภาพการแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลสิกและภัยสุขภาพทางสายตาในยุคดิจิทัล” โดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและการแก้ไขปัญหาสายตาด้วยนวัตกรรมเลสิก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ นำทีมโดย นพ.ปัณณ์ธนารัช กะสีวัฒน์ หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีจักษุวิทยาฯ พร้อมด้วย นพ.ประธาน ปิยสุนทร และ พญ.ณัฐมน ศศิประภา แพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา อนุสาขากระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา โดยมีคุณเชียร์ ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์ รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยภายในงาน เปิดให้ผู้ที่ร่วมลงทะเบียนร่วมงานจำนวน 30 ท่าน เข้ารับบริการปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาด้วยการทำเลสิก รับสิทธิ์ตรวจคัดกรองความผิดปกติทางสายตาเบื้องต้น 4 รายการ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ คุณจะได้พบกับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง อาทิ Eventpass/Eventthai Pearkwan และจูนพากิน ที่จะพาเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีจักษุวิทยาผ่านช่องทางTiktok Instagram Facebook IG Reel และ IG Story นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถร่วมกิจกรรมในรูปแบบไฮบริด ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยร่วมแชร์ Sight Story กับกิจกรรมโฟโต้บูธ ร่วมแชร์เรื่องเล่าผ่านสายตากับบริการของศูนย์เทคโนโลยีจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ลงโซเชียลมีเดียพร้อมติด #Sightstoryโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ แท็ก Facebook โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เรื่องเล่าโดนใจ จำนวน 5 ท่าน ร่วมรับของที่ระลึกพิเศษ สามารถร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 30 กันยายน 2566 นี้ กิจกรรมครั้งนี้ จัดขึ้น ณ บริเวณชั้น 1 ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร รวมทั้งเปิดให้รับชมผ่านทางช่อง Youtube CRA CHULABHORN Channel และ Facebook โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

นพ.ปัณณ์ธนารัช กะสีวัฒน์ หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ โรคทางตาเป็นหนึ่งในภัยสุขภาพใกล้ตัว ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประชากรทั่วโลกมีปัญหาทางสายตาประมาณ 2.2 พันล้านคน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากความผิดปกติทางสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือจากโรคต้อกระจก ที่ไม่ได้รับการแก้ไขรักษา ปัจจุบันปัญหาสุขภาพดวงตา เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งของไทยและของโลก สำหรับโครงการนี้ ศูนย์เทคโนโลยีจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตั้งใจที่จะทำขึ้นเพื่อสร้างการตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับความเสี่ยงโรคทางตาเพื่อป้องกันการเกิดภาวะสายตาผิดปกติและในฐานะโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่เปิดให้บริการทางการแพทย์และรักษาพยาบาลแก่ประชาชนด้วยบริการศูนย์การรักษาโรคเฉพาะทาง ตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มโรคด้วยเทคโนโลยีบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อให้ประชาชนทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ตามพระปณิธานขององค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่พึ่งในการดูแลสุขภาพดวงตาของประชากรไทยจากการเติบโตของประชากรสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสู่โหมดดิจิทัล”

ด้าน นพ.ประธาน ปิยสุนทร แพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา อนุสาขากระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา ได้ให้ข้อมูลเรื่องของการแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติด้วยวิธีเลเซอร์ แบบ ReLEx SMILE ว่า “ การแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติด้วยวิธีเลเซอร์ แบบ ReLEx SMILE ทำงานโดยใช้ Femtosecond Laser ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่โดยแพทย์ผู้ชำนาญจะแยกชั้นกระจกตาเป็นรูปเลนส์ (Lenticule) ภายในกระจกตา และนำเลนส์ที่ตัดไว้นั้นออกมาผ่านแผลเปิดเล็กๆ ที่กระจกตา ขนาดประมาณ 2-4 มิลลิเมตร เพื่อปรับความโค้งของกระจกตาให้เหมาะสมกับค่าสายตาที่ต้องการแก้ไข ซึ่งทำให้แผลหายเร็ว มีอาการเคืองน้อยมากเมื่อเทียบกับเลสิกแบบเดิม และสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ หลังจากผ่าตัดเพียง 1-2 วัน และเนื่องจากการผ่าตัดด้วยวิธี ReLEx SMILE จะมีแผลเปิดที่กระจกตาเล็กเพียง 2-4 มิลลิเมตรเป็นผลให้ตาแห้งน้อยกว่า มองเห็นดีขึ้นได้ทันทีและคงที่ในเวลาที่ไม่นาน ดังนั้น จึงถือว่า ReLEx SMILE เป็นเทคโนโลยีแบบแผลเล็กที่มีความแม่นยำและผลข้างเคียงน้อย โดยก่อนเข้ารับการผ่าตัดจะต้องมีการตรวจประเมินสภาพสายตา ด้วยการตรวจวัดค่าสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ทดสอบการมองเห็น วัดความดันตา ตรวจและวัดค่าสายตาโดยจักษุแพทย์ วัดปริมาณน้ำตา ถ่ายภาพพื้นผิวกระจกตาและวัดความหนาของกระจกตา หยอดยาขยายม่านตาและตรวจสภาพจอประสาทตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์ ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด ประมาณ 30 นาที เมื่อทำเสร็จแล้ว ผู้ป่วยจะต้องใส่ที่ครอบตา 1 วัน และสามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องค้างคืนที่โรงพยาบาล” นพ.ประธาน กล่าว

พญ.ณัฐมน ศศิประภา แพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา อนุสาขากระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติด้วยวิธีเลเซอร์ แบบ Femto Lasik ว่า “ Femto LASIK เป็นนวัตกรรมการทำเลสิกรูปแบบใหม่ที่สามารถแก้ไขปัญหาภาวะสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิดและสายตาเอียงได้ โดยการผ่าตัดแบบใช้แสงเลเซอร์ในการสแกนไปตามความโค้งของกระจกตา ด้วยความเร็วระดับ 500 กิโลเฮิร์ตอย่างแม่นยำ ทั้งนี้ เลเซอร์ที่ใช้ในการผ่าตัดเลสิก Femto มีความถี่สูง พลังงานต่ำ ความปลอดภัยสูง กำหนดความหนาของฝากระจก และสามารถแยกชั้นกระจกตาได้อย่างเรียบเนียน ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบ ทำให้แผลกระจกตาที่ได้สามารถสมานตัวได้เร็ว อีกทั้งยังเป็นวิธีที่ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย ผลข้างเคียงน้อย พักฟื้นไม่นานผู้ที่มีลักษณะตาค่อนข้างเล็ก สามารถใช้วิธีนี้ได้ ผู้เข้ารับการผ่าตัดรู้สึกสบายตา ไม่เจ็บปวด เป็นวิธีที่สามารถลดความคลาดเคลื่อนของการแยกชั้นกระจกตา หรือลดปัญหาผิวกระจกตาถลอกได้ และสามารถกำหนดความลึกและความหนาของชั้นกระจกตาได้อีกด้วย ”

ปิดท้ายด้วย นพ.ปัณณ์ธนารัช กะสีวัฒน์ ที่กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติด้วยวิธีเลเซอร์ แบบ PRK ว่า “ PRK (Photorefractive Keratectomy) เป็นวิธีการรักษาค่าสายตาแบบหนึ่ง ที่จะปรับค่าสายตาด้วยการแก้ไขกระจกตาคล้ายกับการทำเลสิก โดยจะต่างกับเลสิกในเรื่องวิธีการผ่าตัด ในบางครั้งการทำ PRK จึงถูกนับเป็นการทำเลสิกอย่างหนึ่งเช่นกัน ซึ่ง PRK เป็นวิธีการรักษาค่าสายตาที่ทำกันมามากกว่า 40 ปี และยังคงนิยมทำกันอยู่ในปัจจุบัน การทำ PRK เป็นการแก้ไขที่กระจกตาชั้นบน โดยแพทย์จะใช้สารละลาย ละลายเยื่อหุ้มที่กระจกตาด้านบนออก แล้วใช้เลเซอร์ปรับพื้นผิวกระจกตา ในส่วนบนของกระจกตาให้เข้ากับค่าสายตาที่คำนวนไว้ จากนั้นให้ใส่คอนแทคเลนส์ไว้ประมาณ 5 - 7 วัน เพื่อรอให้ร่ายกายสร้างเยื่อหุ้มครอบกระจกตาไว้เหมือนเดิม โดยการทำ PRK จะช่วยแก้ปัญหาสายตาสั้น สายตาสั้นข้างเดียว และสายตาเอียง โดยสามารถแก้ไขสายตาสั้นไม่เกิน 500 (5.00 diopters) และเอียงไม่เกิน 200 (2.00 diopters) ข้อดีของการทำ PRK คือ ให้ผลลัพธ์ที่ถาวร ผลข้างเคียงน้อยกว่าการทำเลสิก ก่อนการรักษาไม่ต้องฉีดยาชา แค่หยอดยาชาก็เพียงพอ ระหว่างทำไม่เจ็บ ไม่ต้องเย็บแผล กลับบ้านได้ทันทีหลังผ่า ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ข้อจำกัดน้อยกว่าเลสิก ผู้ที่มีกระจกตาบาง ตาแห้ง ตาเล็ก เบ้าตาลึก หรือเป็นโรคที่ทำเลสิกไม่ได้ เช่น ต้อหิน สามารถทำ PRK ได้ แต่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ก่อนกระจกตาไม่มีความเสี่ยงกระจกตาเปิดจากการผ่าแฟลบเหมือนการทำเลสิก โดยเฉพาะอาการตาแห้งที่พบมากหลังทำเลสิก จะพบได้น้อยมากหลังทำ PRK มีโอกาสในการทำงานมากขึ้น ผู้ที่ประกอบอาชีพนักบิน ทหาร ตำรวจ สามารถทำได้ ใช้ชีวิตง่ายขึ้น ไม่ต้องใส่แว่นเหมือนเดิม ” นพ.ปัณณ์ธนารัช กล่าว

ศูนย์เทคโนโลยีจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นหนึ่งในศูนย์การรักษาที่เปิดให้บริการตรวจรักษาแก่ผู้ป่วยจักษุของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยได้มีการพัฒนาขอบเขตการให้บริการรักษาจักษุวิทยามาอย่างต่อ เนื่องทำให้ ณ ปัจจุบันมีศักยภาพในการให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยได้อย่างครบวงจร โดยเปิดให้บริการ ณ ชั้น 12 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ครอบคลุมการให้บริการ อาทิ การทำเลสิก เพื่อรองรับผู้ที่มีความผิดปกติของค่าสายตา ห้องผ่าตัดจักษุ (0R) เพื่อรองรับการผ่าตัดทางจักษุทุกประเภทที่ไม่ต้องได้รับการดมยาสลบ คลินิกต้อกระจก เพื่อรองรับการทำผ่าตัดต้อกระจกที่ทันสมัยแบบครบวงจร และบริการฉีดยาเข้าวุ้นตา เพื่อรองรับการฉีดยาเข้าวุ้นตา คลินิกสายตาเลือนลาง (Low vision clinic) เพื่อรองรับผู้ป่วยที่สูญเสียการมองเห็น คลินิกแก้ไขค่าสายตา (Refractive clinic) เพื่อรองรับบริการวัดแว่นและคอนแทคเลนส์ เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ช่วงท้ายของกิจกรรมวันนี้ คุณหมอทั้ง 3 ท่าน พร้อมด้วย คุณเชียร์ ฑิฆัมพร ได้ร่วมสนุกกับผู้ชมโดยเปิดโอกาสให้ตอบคำถาม ลุ้นรับรางวัลที่ระลึกภายในงานฯ พร้อมย้ำสารรณรงค์ในปี 2566 นี้กับโครงการ อิสระกับการใช้ชีวิตแบบไร้กรอบ “SIGHT STORY” เรื่องเล่าผ่าน “สายตา” ที่เคลียร์ชัดทุกมุมมอง

อย่าลืม! ติดตามเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ผ่านการรีวิลของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ตามช่องทาง Tiktok Instagram Facebook IG Reel และ IG Story ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถปรึกษานัดหมายโปรแกรมเลสิกที่เหมาะสมสำหรับคุณได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีจักษุวิทยา ชั้น 12 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เฉพาะเลสิก เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น. หรือลงทะเบียนเพื่อรับคำปรึกษาได้ที่ www.chulabhornchannel.com/lasik-2/