medicalfocusth

ม.มหิดลต่อยอดผลิตยาแอนติบอดีจากเซลล์พืชสาหร่ายลดอาการรุนแรงไวรัสไข้เลือดออก
ม.มหิดลต่อยอดผลิตยาแอนติบอดีจากเซลล์พืชสาหร่ายลดอาการรุนแรงไวรัสไข้เลือดออก
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เคยมีรายงานการระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งใหญ่ที่สุดว่า เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยมีจำนวนผู้ป่วยมากถึงกว่า 170,000 ราย เสียชีวิตกว่า 1,000 ราย หลังจากนั้นก็ยังคงมีการระบาดอยู่เรื่อยๆ

เช่นเดียวกับมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกในเขตร้อนชื้น ที่พบโรคดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" ในปัจจุบัน และได้นำไปสู่อาการรุนแรงของโรคจากปรากฏการณ์ "ADE - Antibody-dependent Enhancement" หรือการติดเชื้อไวรัสซ้ำทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิต

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยแอนติบอดี และหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึง "ปรากฏการณ์ ADE" ว่าเป็นอาการรุนแรงของโรคไข้เลือดออกที่เกิดขึ้นหลังอาการไข้สูง โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีซ้ำด้วยสายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้มีเซลล์ที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และเกิดเลือดออกทั่วร่างกายจากโปรตีน NS1 ของไวรัส

โจทย์ดังกล่าวได้นำมาสู่การคิดค้นยาแอนติบอดีตัวใหม่ที่สามารถทั้งยับยั้งไวรัสในช่วงไข้สูง ลดเซลล์ติดเชื้อ และลดการเกิดเลือดออกในช่วงไข้ลด ที่เพิ่งจดสิทธิบัตร และมีบริษัทญี่ปุ่นตกลงลงทุนพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งยาตัวใหม่นี้มีคุณสมบัติดีกว่า ยาแอนติบอดีตัวแรกที่ใช้ยับยั้งไวรัสได้เฉพาะในช่วงไข้สูง ที่มีบริษัทจากอินเดียมาลงทุนพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และจะเริ่มทดสอบในอาสาสมัครในปี พ.ศ. 2567

ค้นพบโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปานน้ำทิพย์ รามสูต ร่วมกับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับรางวัลระดับเอเชีย Euglena Award โดยจะได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นในการผลิตยาแอนติบอดีโดยใช้ "Algae System"

โดยการใส่ DNA ของยีนแอนติบอดีรักษาไข้เลือดออกที่ต้องการลงไปใน "เซลล์พืชสาหร่าย" ทำให้สามารถผลิตยาแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกได้ครั้งละจำนวนมาก ทั้งประหยัดพื้นที่และต้นทุน นวัตกรรมดังกล่าวอยู่ระหว่างการผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ภายใต้การผลิตในระบบโรงงานมาตรฐาน GMP ต่อไปในอนาคต

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต กล่าวเพิ่มเติมว่า "ยาแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออก" ตัวใหม่นี้ นอกจากสามารถทั้งยับยั้งไวรัสในช่วงไข้สูง และลดอาการรุนแรงของโรคในช่วงไข้ลดได้แล้ว เมื่อผลิตจากเซลล์พืชจะมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงของโรคจาก ADE

"Life Below Water" หรือความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตใต้ผืนน้ำ ตามเป้าหมาย SDG14 แห่งสหประชาชาติ อาจต่อชีวิต "Life on Land" หรือชีวิตบนบก ของทั้งมนุษย์ และสัตว์ ตามเป้าหมาย SDG15 ให้เกิดความยั่งยืนต่อไปได้

มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล สานต่อองค์ความรู้อันเปี่ยมค่านี้ เพื่อประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ โดยหวังให้ทุกชีวิตห่างไกลจากโรคไข้เลือดออก และมีอนาคตที่สดใสจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากสุขภาวะที่ดีต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210