medicalfocusth

ม.มหิดลพิสูจน์แล้ว'สุขภาพดีที่สุดเกิดจากส่งเสริมกิจกรรมทางกายตั้งแต่ในท้องแม่'
ม.มหิดลพิสูจน์แล้ว'สุขภาพดีที่สุดเกิดจากส่งเสริมกิจกรรมทางกายตั้งแต่ในท้องแม่'
ความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งครรภ์บอกต่อกันมาอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกิจกรรมทางกายที่มักมีข้อห้ามไม่ให้แม่ตั้งครรภ์เคลื่อนไหวมาก เพื่อไม่ให้เกิดการแท้งบุตร
ขณะที่ในทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า หากแม่ตั้งครรภ์มีการเคลื่อนไหว หรือกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งส่งผลให้คลอดง่าย และได้บุตรที่แข็งแรง

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล โดย TPAK สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้มีการลงนามความร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลักดันนโยบายเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในแม่ตั้งครรภ์และแม่หลังคลอด โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งสำหรับแม่ตั้งครรภ์เอง และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

โดยมุ่งหวังให้มีการฝากครรภ์ และเตรียมคลอดอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นก้าวต่อไปจากการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กเล็กและเยาวชน ก่อนการต่อยอดสู่ทุกช่วงวัย โดยครอบคลุมประชากรตั้งแต่กลุ่มแม่ตั้งครรภ์ จนถึงผู้สูงวัย

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย TPAK สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ประสบความสำเร็จจากการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พร้อมสร้างเครือข่ายมาแล้ว 162 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในแม่ตั้งครรภ์และแม่หลังคลอด ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่ท้าทาย เนื่องจากเป็นการพิสูจน์ว่า "สุขภาพที่ดีที่สุดเกิดขึ้นได้จากการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เด็กตั้งแต่อยู่ในท้องแม่" ซึ่งหากแม่ตั้งครรภ์มีการออกกำลังกายที่ดี จะส่งผลให้บุตรที่อยู่ในครรภ์ได้เคลื่อนไหวและมีสุขภาพที่แข็งแรงไปด้วย

ประโยชน์ของกิจกรรมทางกายในแม่ตั้งครรภ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงระยะครรภ์ ได้แก่ 1 – 3 เดือนแรก เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางสรีระ จากรูปร่างปกติ สู่การมีน้ำหนักตัวมากขึ้นจากการเจริญเติบโตของทารกที่อยู่ในครรภ์ ช่วงระยะครรภ์ 4 – 6 เดือน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการมีน้ำหนักตัวที่มากขึ้น โดยครอบคลุมถึงการควบคุมระดับน้ำตาล และความดันโลหิตให้อยู่ในภาวะปกติ ต่อเนื่องถึงช่วงระยะครรภ์ 7 – 9 เดือนสู่การคลอดอย่างปลอดภัย

ซึ่งการให้แม่ตั้งครรภ์ได้มีกิจกรรมทางกายที่ต่อเนื่องและเหมาะสม นอกจากจะช่วยลดอาการปวดหลังระหว่างตั้งครรภ์ได้แล้ว ยังทำให้การคลอดปลอดภัย อีกทั้งช่วยลดภาวะซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นระหว่างและหลังตั้งครรภ์ได้อีกด้วย

เพียงใช้เวลา 10 นาทีก่อนเข้านอน ออกกำลังกายเบาๆ พร้อมเปิดเพลงคลอ จะช่วยให้แม่ตั้งครรภ์รู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งสามารถทำได้ทั้งท่านอน และท่านั่ง เริ่มต้นจากการออกกำลังในส่วนแขน โดยการยกแขนขนานข้างลำตัวขึ้น-ลงช้าๆ ให้ได้ข้างละ 5 – 10 ครั้งต่อ 1 เซ็ท และทำต่อไปจนครบ 3 – 5 เซ็ท สลับกับการออกกำลังในส่วนขา โดยการชันเข่าดึงขาขึ้น-ลงช้าๆ ให้ได้จำนวนครั้ง และเซ็ทที่เท่ากัน

สำหรับการบริหารอุ้งเชิงกรานสำหรับแม่ตั้งครรภ์ หากทำได้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดอาการปัสสาวะเล็ดระหว่างตั้งครรภ์ และทำให้คลอดง่าย เนื่องจากมีอุ้งเชิงกรานที่แข็งแรงด้วยการเคลื่อนไหวที่ใช้หลักการเกร็งบริเวณลำตัวและอุ้งเชิงกราน หายใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยควรฝึกภายใต้การดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญในครั้งแรก
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย TPAK สถาบันวิจัยประชากรและสังคม พร้อมสานต่อองค์ความรู้กิจกรรมทางกายเพื่อประชาชนในทุกช่วงวัยเข้าถึงได้ สร้างสุขภาพที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในวันข้างหน้าด้วยตัวเองต่อไปอย่างยั่งยืน

ดาวน์โหลดคู่มือการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด "ลูกแข็งแรง เริ่มต้นที่แม่กระฉับกระเฉง" ได้ที่ https://tpak.or.th/backend/print_media_file/740/ลูกแข็งแรงเริ่มต้นที่แม่กระฉับกระเฉง.pdf

พร้อมดาวน์โหลดคู่มือ "แนวทางการดำเนินงานสำหรับบุคลากร การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด" ได้ที่ https://tpak.or.th/backend/print_media_file/741/แนวทางการดำเนินงานสำหรับบุคลากร%20PA%20ในหญิงตั้งครรภ์.pdf


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210