medicalfocusth

ม.มหิดล–China Medical Board of New York สร้างแอปหุ่นยนต์ฝึกวินัยผู้ป่วยเด็กพ่นยารักษาอาการโรคหืด
ม.มหิดล–China Medical Board of New York สร้างแอปหุ่นยนต์ฝึกวินัยผู้ป่วยเด็กพ่นยารักษาอาการโรคหืด
"โรคหืด" ถือเป็นโรคความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ซึ่งสามารถเกิดอันตรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะในเด็กเล็กหากพ่นยาไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการพ่นยา รวมทั้งการสัมผัสมลพิษทางอากาศ ซึ่งนาทีฉุกเฉินอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จึงเป็นที่มาของ "นวัตกรรมแอปพลิเคชันหุ่นยนต์สำหรับผู้ป่วยเด็กโรคหืด" ซึ่งนับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานโดยอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนโดย China Medical Board of New York

อาจารย์ ดร.จินต์ณาภัส แสงงาม อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุสำคัญของหอบหืดกำเริบมักเกิดจากการพ่นยาที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการใช้ยาไม่สม่ำเสมอ

อาการของโรคหืดจะชัดเจนขึ้นในเด็กก่อนวัยเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งสังเกตได้จากอาการไอ หายใจได้ยินเสียงวี๊ด หอบเหนื่อย ซึ่งบรรเทาอาการได้ด้วยการพ่นยา เนื่องจากโรคหืดเป็นโรคเรื้อรัง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กจะต้องฝึกวินัยในการพ่นยา เพื่อการปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติเมื่อถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียน

อาจารย์ ดร.จินต์ณาภัส แสงงาม ได้เป็นผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมแอปพลิเคชันหุ่นยนต์ "PUKKABOT" ที่จะคอยเป็นทั้งพี่เลี้ยงและเพื่อนให้กับเด็กโรคหืด โดยได้ออกแบบตัวการ์ตูนรูปสัตว์ที่เด็กๆ ชื่นชอบที่สามารถเคลื่อนไหวพร้อมเสียงพูด คลอด้วยเสียงเพลง โดยโปรแกรมฯ ได้ออกแบบให้บันทึกข้อมูลการพ่นยา ตามเวลาที่แจ้งเตือนโดยอัตโนมัติ

หากเด็กสามารถทำได้ตามขั้นตอน จะมีการให้รางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจ เป็นอาหารที่จะนำไปเลี้ยงสัตว์ในเกมให้มีขนาดโตขึ้นตามจำนวนครั้งที่ทำสำเร็จ เป็นกุศโลบายที่ทำให้เด็กเกิดความร่วมมือ พร้อมได้รับความเพลิดเพลินขณะพ่นยา

นอกจากนี้ แอปพลิเคชันยังมีฟังก์ชันตรวจสอบสภาพอากาศ เพื่อประเมินสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ก่อนออกจากบ้าน เพื่อเตรียมตัวป้องกันความรุนแรงของอาการหืด ซึ่งอาจกลายเป็นอุบัติเหตุนาทีฉุกเฉิน

อาจารย์ ดร.จินต์ณาภัส แสงงาม กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้ทดสอบการใช้ในเด็กก่อนวัยเรียน ก้าวต่อไปเตรียมทดสอบจริงในผู้ป่วยเด็กโรคหืด ก่อนพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ หลังยื่นจดลิขสิทธิ์ เพื่อเปิดให้สามารถดาวน์โหลดผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตได้ต่อไป และได้กล่าวทิ้งท้ายเพื่อจุดประกายนวัตกรรุ่นใหม่ให้ลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากสิ่งที่อยู่รอบตัว โดยเชื่อว่าคุณค่าของสิ่งใหม่ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะช่วยแก้ปัญหา และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงเพียงใด

มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเป็นกำลังใจให้นักวิจัยรุ่นใหม่ทุกคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจพร้อมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ด้วยองค์ความรู้อันเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ที่จะสามารถนำไปต่อยอดเพื่อประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210