medicalfocusth

ม.มหิดลวิจัยผลของดนตรีต่อคลื่นไฟฟ้าสมอง สู่การออกแบบกิจกรรมบำบัดตรงจุด
ม.มหิดลวิจัยผลของดนตรีต่อคลื่นไฟฟ้าสมอง สู่การออกแบบกิจกรรมบำบัดตรงจุด
งานวิจัยผลของดนตรีที่มีต่อคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นผลงานล่าสุดของมหาวิทยาลัยมหิดล โดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ สถาบันดนตรี Top50 ของโลก ที่ผ่านการรับรองหลักสูตรจากสถาบันรับรองคุณภาพหลักสูตรดนตรีของยุโรป "MusiQuE" แห่งแรกของเอเชีย

อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญของงานวิจัยดังกล่าว โดยที่ผ่านมาได้ริเริ่มศึกษาครั้งแรกกับเยาวชนกลุ่มเป้าหมายในสถานพินิจเพื่อดูผลกระทบของการใช้ดนตรีบำบัดในการช่วยกล่อมเกลาพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง

โดยได้ร่วมกับทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ให้การสนับสนุน "การวัดคลื่นไฟฟ้าสมองด้วยเครื่องวิเคราะห์คลื่นสัญญาณไฟฟ้าสมอง" (EEG) พร้อมผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้ทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

จากการออกแบบกิจกรรมใน 2 ลักษณะ โดยกิจกรรมแรกเลือกเพลงที่มีอยู่แล้วและเกี่ยวข้องกับเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย สำหรับวงดนตรีขนาดเล็ก เล่นกระชับความสัมพันธ์ ส่วนอีกกิจกรรมเป็นการแต่งเพลงขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าสมองเปรียบเทียบกัน

ปัจจุบันโครงการฯ ยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล โดยหวังให้ผลการวิจัยสามารถช่วยลดความรุนแรง ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงในเยาวชน จากการออกแบบดนตรีบำบัดได้อย่างเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมายังคงไม่มีในลักษณะเพื่อใช้ในรายบุคคลอย่างตรงจุด นอกจากนี้ยังได้ศึกษาในรายละเอียดถึงผลของการฟังดนตรีในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทั้งในแบบใส่หูฟัง และเปิดจากลำโพง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทธี เชียงชะนา หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่เราฟัง ร้อง หรือเล่นดนตรีสามารถการกระตุ้นการทำงานของสมองได้หลายส่วน อาทิ สมองส่วนควบคุมการมอง - ได้ยิน - เคลื่อนไหว ในขณะที่สมองเรามียีนส์คอยควบคุม "จังหวะ" และ "เวลา" ซึ่งมีความสอดคล้องกับ "จังหวะดนตรี" (Rhythm)

มีงานวิจัยหลายชิ้นค้นพบว่า "จังหวะดนตรี" มีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อ "ทักษะการคิดเชิงบริหาร" (Executive Functions) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน "การควบคุมตัวเอง" (Inhibitory Control) ซึ่งมีผลต่อการลดปัญหาพฤติกรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทธี เชียงชะนา ได้แนะนำทิ้งท้ายถึงการออกแบบดนตรีบำบัดเพื่อใช้ในการฝึกทักษะ EF ด้านการควบคุมตัวเองว่า โดยทั่วไปสามารถฝึกได้ตั้งแต่วัยเยาว์ ด้วยกิจกรรม "ทำตามคำสั่งจากเนื้อเพลง" หรือกิจกรรมดนตรี "ผู้นำ - ผู้ตาม"

มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเป็นกำลังใจให้เยาวชนคนไทยทุกคนได้พบกับโอกาสในการเปลี่ยนแปลงชีวิต เพื่ออนาคตที่ดี และยั่งยืนของตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th