medicalfocusth

กรมวิทย์ฯ ร่วมเครือข่ายตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test ตั้งเป้าตรวจหญิงไทย 30-60 ปี 1 ล้านคน ภายในปี 67 เริ่ม ธ.ค. นี้ ทั่วประเทศ
กรมวิทย์ฯ ร่วมเครือข่ายตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test ตั้งเป้าตรวจหญิงไทย 30-60 ปี 1 ล้านคน ภายในปี 67 เริ่ม ธ.ค. นี้ ทั่วประเทศ
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยายาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สนับสนุนนโยบายมะเร็งครบวงจรของกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง ด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทส (HPV DNA Test) แบบแยก 14 สายพันธุ์เสี่ยงสูง ให้กับสตรีไทย อายุ 30-60 ปี

จากข้อมูลภาพรวมของประเทศสตรีไทยที่จะต้องตรวจคัดกรองภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) จำนวน 15,677,638 คน โดยในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มีเป้าหมาย 3,135,528 คน แต่ได้รับการตรวจคัดกรองเพียง 613,254 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.6 เท่านั้น ซึ่งเป็นงานที่ต้องเร่งรัด (Quick win) เนื่องจากพบว่ายังมีสตรีไทยไม่ได้ตรวจจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สปสช. ได้เห็นชอบให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test ให้กับสตรีไทย อายุ 30-60 ปี ครอบคลุมทุกสิทธิ์ทั่วประเทศฟรี จากเดิมที่เคยใช้การตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap smear) หรือวีไอเอ (VIA) ซึ่งเป็นไปตามข้อแนะนำการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ แห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test เป็นการตรวจในระดับโมเลกุลที่มีความถูกต้อง แม่นยำและมีความไวที่สูงกว่าการตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ สามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อ HPV ความเสี่ยงสูงทั้ง 14 สายพันธุ์ หรือมากกว่า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก อาทิ สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 ที่พบเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% กรณีตรวจไม่พบเชื้อไวรัส HPV สามารถเว้นการตรวจซ้ำได้ถึง 5 ปี ให้ความแม่นยำในการตรวจเจอการติดเชื้อสูง สามารถตรวจค้นหาผู้ป่วยได้ในระยะก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก ทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา ป้องกันได้ก่อนที่จะพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูก การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ตรวจพบผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้น และเข้าสู่การรักษาได้โดยเร็วก่อนลุกลาม ช่วยลดอุบัติการณ์ ของโรค และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก เมื่อเทียบกับการตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ นอกจากนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test สามารถใช้ตรวจตัวอย่างที่สตรีไทยเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่งให้แพทย์ตรวจ ลดความเขินอาย และหลีกเลี่ยงความไม่สะดวกเข้ารับการตรวจคัดกรองในหน่วยบริการที่อยู่ห่างไกลด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกัน

นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ.2566 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ได้พัฒนารูปแบบการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (HPV Self-Sampling) ในจังหวัดชัยนาท เป็นพื้นที่นำร่อง เน้นการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด มีการพัฒนาอบรมให้ความรู้ อสม. ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญ ในการให้ความรู้สตรีในชุมชน เคาะประตูบ้าน กระตุ้นให้สตรีกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการตรวจคัดกรอง และช่วยในการติดตามให้ผู้ที่พบผลเสี่ยงสูงได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จนทำให้จังหวัดชัยนาทมีอัตราการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีไทย อายุ 30-60 ปีเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และสามารถนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ

“ขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่ง ได้อบรมบุคลากรด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้เชิงเทคนิคและควบคุมคุณภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน (อสม.นักวิทย์) ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 21,889 คน กระจายอยู่ในทุกตำบลทั่วประเทศ ให้มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับการใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ตลอดจนความรู้เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูก การป้องกัน และการรักษา เพื่อที่จะนำไปถ่ายทอดให้กับสตรีกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ตนเองตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยบูรณาการดำเนินงานร่วมกันกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจคัดกรอง และป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก อันจะนำมาเพื่อการเข้าถึงการรักษาและลดความเสี่ยง ตลอดจนการเสียชีวิตของสตรีไทย

โดยจะเริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 นี้ เป็นต้นไป พร้อมกันทั่วประเทศทั้ง 13 เขตสุขภาพ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้สตรีไทยได้รับการตรวจคัดกรอง จำนวน 1,000,000 ตัวอย่าง ภายในปี 2567 ซึ่งจะช่วยให้สตรีไทยเข้าถึงบริการ ได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึงในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ยังจะได้ข้อมูล Big Data ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย ก้าวสู่การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine)” นายแพทย์ยงยศ กล่าว