medicalfocusth

คณะพันธมิตรนักวิจัยไทย จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมมือกับ คณะพันธมิตรนักวิจัยจากทวีปยุโรป เปิดตัวแว่นเสมือนจริง ตัวช่วยฝึกการทรงตัว ผ่านการกระตุ้นหูชั้นใน AR for Vestibular Rehabilitation
คณะพันธมิตรนักวิจัยไทย จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมมือกับ  คณะพันธมิตรนักวิจัยจากทวีปยุโรป เปิดตัวแว่นเสมือนจริง ตัวช่วยฝึกการทรงตัว ผ่านการกระตุ้นหูชั้นใน AR for Vestibular Rehabilitation
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วย คณะพันธมิตรนักวิจัยจากทวีปยุโรป ได้แก่ ประเทศกรีซ สหราชอาณาจักร เยอรมนี โปตุเกส อิตาลี สเปน เอสโตเนีย เซอร์เบีย และ คณะพันธมิตรนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเทศไทย โดยการนำทีมของ อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร อาจารย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา และแพทย์เฉพาะทางด้านโสตประสาทวิทยา ประจำคลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกันแถลงข่าว เปิดตัวแว่นเสมือนจริง ตัวช่วยฝึกการทรงตัวผ่านการกระตุ้นหูชั้นใน AR for Vestibular Rehabilitation ซึ่งโปรแกรมการออกกำลังกายด้วย Hologram ลดอาการเวียนหัวหกล้มด้วยตนเองที่บ้าน ผ่านระบบทางไกล Telemedicine ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “TeleRehabilitation of Balance clinical and economic Decision Support System” โดยได้รับงบประมาณจากทางสหภาพยุโรป European Health and Digital Executive Agency ซึ่งดำเนินการภายใต้อำนาจของ the European Commission โดยงานแถลงข่าวจัดขึ้น ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งภายในงานยังมีกิจกรรมเสวนาต่างๆ ดังนี้ ...

• กิจกรรมเสวนาหัวข้อ “ภัยใกล้ตัวผู้สูงวัย - เฝ้าระวังสัญญาณอันตรายจากภาวะโรคต่างๆ ที่มีผลต่อปัญหาการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ” ระหว่างคณะผู้แทนพันธมิตรนักวิจัยทางคลินิคจากทวีปยุโรป โดย Dr. Marousa Pavlou จาก University College London สหราชอาณาจักร ร่วมกับ Dr. Dimitris Kikidis จาก National and Kapodistrian University of Athens ประเทศกรีซ และ อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร หัวหน้าทีมวิจัยประจำประเทศไทย อาจารย์ประจำภาควิชา โสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเข้าร่วมพูดคุย ในทุก ๆ กิจกรรมเสวนาของวันนี้

• กิจกรรมเสวนาหัวข้อ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล ช่วยป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุได้อย่างไร & ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุได้จริงหรือ” ระหว่างคณะผู้แทนพันธมิตรนักวิจัยทางด้านเทคนิคในทวีปยุโรป ได้แก่ Dr. Vassilis Tsakanikas จาก University of Ioannina ประเทศกรีซ Dr. Aleksandra Vulović จาก BIOIRC DOO KRAGUJEVAC ประเทศเซอร์เบีย และ รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อ.นัตวิไล อุทุมพฤกษ์พร อาจารย์พิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยจาก City University of London ประเทศอังกฤษ หัวหน้าศูนย์ Lifesciences Launchpad บริษัท บินได้ จำกัด

• กิจกรรมเสวนาหัวข้อ “เปิดมุมมองคุณหมอ - การหกล้มในผู้สูงอายุ – อันตรายที่ป้องกันได้” จากคณะผู้แทนพันธมิตรนักวิจัยทางคลินิกประจำประเทศไทย โดยคณาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้แก่ อ.ดร.นพ.ชาวิท ตันวีระชัยสกุล แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ อ.นพ. ไอศวรรย์ เพชรล่อเหลียน แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และ ผศ.ดร.พญ.นฤชร กิจไพศาลรัตนา แพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โดยมี อ.พญ.พิมรฎา โพธิพิมพานนท์ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลก มีปณิธานที่จะสร้างคน สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม สร้างเสริมสังคมไทยให้ก้าวไกลในสังคมโลก พร้อมที่จะยกระดับมาตรฐานการสร้างคน สร้างผู้นำรุ่นใหม่ โดยมีการลงทุนในการพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนางานวิจัย เพื่อสร้างผู้นำแห่งอนาคต และสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพเพื่อสังคม ให้ออกไปรับใช้สังคมด้วยงานวิชาการที่มีความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของงานแถลงข่าวเปิดตัวแว่นเสมือนจริง ตัวช่วยฝึกการทรงตัวผ่านการกระตุ้นหูชั้นใน AR for Vestibular Rehabilitation ครั้งแรกในเอเชีย ซึ่งเป็นการพัฒนาและออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายด้วยตนเองที่บ้าน ผ่านเทคโนโลยี Augmented reality หรือ AR เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถพัฒนาการเรียนรู้ และเสริมสร้างสมรรถภาพด้านการทรงตัว รวมทั้งช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสมและทั่วถึง รองรับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์

นับได้ว่า โครงการวิจัยนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างระบบการดูแลสังคมผู้สูงอายุจากหลาย ประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป และประเทศไทย ร่วมกับศาสตร์แห่งการวิจัยที่ช่วยพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพผู้สูงอายุ ตลอดจนการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเป็นบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพที่ดี และมีอายุยืนนาน ก่อให้เกิดการเชื่อมต่อองค์ความรู้และเทคโนโลยีผ่านความร่วมมือของพันธมิตรนักวิจัยประเทศไทยและทวีปยุโรป เพื่อนำสู่การนำไปใช้งานได้จริง รวมทั้งพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป สมดั่งปณิธานของจุฬาฯ ที่ว่า “Innovations for Society”

ทางด้าน อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร เผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการทรงตัวมีเพิ่มมากขึ้น การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญที่ช่วยเพิ่มสมรรถภาพด้านการทรงตัวสำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มเป็นอย่างมาก โดยการออกกำลังกายสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การออกกำลังกายที่บ้าน ทำให้สามารถจัดสรรเวลาได้อย่างสะดวก และทำกิจกรรมได้อย่างอิสระ เป็นต้น แต่ยังมีทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติม คือ การออกกำลังกายที่จัดตั้งขึ้นในแหล่งชุมชน สำหรับป้องกันการพลัดตกหกล้ม หรือการออกกำลังกายลดเวียนหัวที่คลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับความจำบกพร่องเล็กน้อย (MCI) อาจมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นที่จะมีโอกาสหกล้ม และในผู้สูงอายุที่มีอาการเวียนศีรษะเรื้อรังจะมีแนวโน้มที่จะพบปัญหาด้านการทรงตัวอีกด้วย ปัญหาการทรงตัวและการเดิน ส่วนใหญ่จะมีผลมาจากระบบประสาทการทรงตัวในหูชั้นในร่วมกับระบบการมองเห็น และระบบข้อต่อและกล้ามเนื้อ เมื่อมีความผิดปกติของระบบการทรงตัวในหูชั้นในเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะและส่งผลกระทบต่อการทรงตัวและการเดิน ดังนั้น โปรแกรมการออกกำลังกายแบบเฉพาะบุคคล จะช่วยลดอาการ หรือความรู้สึกเหล่านี้ได้ รวมทั้งช่วยเพิ่มสมรรถภาพด้านทรงตัวได้อีกด้วย แต่ทว่าโปรแกรมการออกกำลังกายเฉพาะบุคคล อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสูง

ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันโลกของเรามีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้คณะพันธมิตรนักวิจัยจากทวีปยุโรปและประเทศไทย ร่วมกันคิดค้น พัฒนา และออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายด้วย Hologram ลดเวียนหัวหกล้มด้วยตนเองที่บ้าน ผ่านระบบทางไกล Telemedicine โดยสามารถออกกำลังกายง่ายๆ ด้วยตนเองที่บ้าน ผ่านเทคโนโลยี Augmented reality (AR) เพื่อจำลองสถานการณ์ฝึกการเรียนรู้ผ่านเกมส์ในแต่ละระดับ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนความยาก-ง่ายได้ตามความเหมาะสม และจะมีคำแนะนำในการออกกำลังกายอย่างละเอียด รวมทั้งยังมีเซนเซอร์สำหรับติดตาม และบันทึกผลอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษาผ่านระบบทางไกล ดังนั้น โปรแกรมการออกกำลังกายที่พัฒนาขึ้นนี้จะมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถพัฒนาการเรียนรู้ และเสริมสร้างสมรรถภาพด้านการทรงตัวให้ดีมากยิ่งขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังช่วยพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ทำให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความสุขและมีอายุยืนนาน เพื่อรองรับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์