medicalfocusth

ม.มหิดลก้าวสู่ความเป็นเลิศระดับนานาชาติ เปิด’หลักสูตรเภสัชอินเตอร์‘ผลิต‘บัณฑิตเภสัชพลเมืองโลกคุณภาพ’
ม.มหิดลก้าวสู่ความเป็นเลิศระดับนานาชาติ เปิด’หลักสูตรเภสัชอินเตอร์‘ผลิต‘บัณฑิตเภสัชพลเมืองโลกคุณภาพ’
กว่าจะเป็น “หมอยา” จะต้องใช้เวลาถึง 6 ปี ทั้งวิชาพื้นฐาน ความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพเบื้องต้น วิชาเฉพาะทางเภสัชศาสตร์ การฝึกความชำนาญทางวิชาชีพ ซึ่งเป็นมาตรฐานโลกที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หาเรียนได้เฉพาะที่ประเทศไทย

โดยปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้นำวิชาการในฐานะที่หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตของคณะฯ ได้เป็นหนึ่งเดียวในไทย และเป็นหนึ่งใน 3 หลักสูตรแห่งภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน AUN - QA (ASEAN University Network Quality Assurance) และกำลังขยายผลสู่หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตนานาชาติ เพื่อผลิต “บัณฑิตเภสัชพลเมืองโลกคุณภาพ”

รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตของประเทศไทย แตกต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค นอกจากระยะเวลาของหลักสูตรที่กำหนดให้เป็นระบบ 6 ปี ในขณะที่ในบางประเทศยังเป็นระบบ 4 และ 5 ปีแล้ว ยังพบความแตกต่างด้านเนื้อหาที่ลึกและกว้างกว่า พร้อมเปิดโอกาสให้ได้ฝึกความชำนาญทางวิชาชีพได้มากถึง 2,000 ชั่วโมง

หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตนานาชาติ ริเริ่มขึ้นครั้งแรกโดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อตอกย้ำบทบาทด้าน Capacity Building ตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDG17) และยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ว่าด้วยความร่วมมือสู่การบรรลุเป้าหมาย ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นผู้นำวิชาการเภสัชศาสตร์ และพร้อมทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” พัฒนาวิชาการด้านดังกล่าวในระดับภูมิภาค นอกเหนือไปจากการจัดหลักสูตรเพื่อสนองการเจริญเติบโตของการศึกษาขั้นพื้นฐานนานาชาติของประเทศ

โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหลานชาวไทยที่สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้มีโอกาสสัมผัสกับความเป็น “เภสัชศาสตร์ระดับโลก” พร้อมผู้เรียนจากนานาประเทศที่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลกที่มีความโดดเด่นด้านเภสัชศาสตร์ ที่ผ่านมา

โดยมีคณาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมด้วยคุณภาพมาตรฐาน UKPSF (United Kingdom Professional Standard Framework) อีกทั้งยังมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับโลก เดินทางมาเป็น “ศาสตราจารย์อาคันตุกะ” ร่วมเสริมทัพ

ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งจากมหาวิทยาลัย Friedrich-Alexander-University of Erlangen-Nürnberg สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น อาทิ ด้านกระบวนการเปลี่ยนสภาพยา จากมหาวิทยาลัยโตเกียว และด้านเภสัชวิทยา จากมหาวิทยาลัยโชวะ และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัย Aarhus ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ล้วนการันตีได้ถึงศักยภาพที่ถึงพร้อมด้านวิชาการ และสร้างความเชื่อมั่นต่อหลักสูตรเภสัชศาสตร์ ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในบริบทโลก

และที่สำคัญ เพื่อ “ความสำเร็จที่จับต้องได้” คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ออกแบบหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตนานาชาติ ให้เกิดการพัฒนานักศึกษาแบบองค์รวม โดยไม่ลืมใส่ “หัวใจผู้ประกอบการ” และ “ทักษะเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development) เพื่อให้ได้ “บัณฑิตเภสัชพลเมืองโลกคุณภาพ” ซึ่งเป็นที่ต้องการของโลกในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง

โดยหลักสูตรมีการสอดแทรกรายวิชาที่หลากหลาย ได้แก่ “Leadership and Change for Global Society” เพื่อการฝึกภาวะผู้นำสนองการเปลี่ยนแปลงของโลก “Business Start-up Management and Administration in Pharmacy” ยกระดับ “เภสัชสตาร์อัพมือใหม่” เสริมด้วยพื้นฐานด้านกฎหมายและจริยธรรมกับรายวิชา “Pharmacy Laws and Ethics in ASEAN” และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อการประกอบการที่ยั่งยืน เป็นต้น

มาร่วมส่งเสริมบัณฑิตเภสัชกรไทยสู่การเป็น “บัณฑิตเภสัชพลเมืองโลกคุณภาพ” ภายใต้บรรยากาศของความเป็นนานาชาติที่ครบวงจรกับหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตนานาชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.pharmacy.mahidol.ac.th

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210