medicalfocusth

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงอำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคฮีโมฟีเลีย และผู้นำการเบิกจ่ายแฟคเตอร์เข้มข้นด้วยสิทธิ์ประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงอำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคฮีโมฟีเลีย และผู้นำการเบิกจ่ายแฟคเตอร์เข้มข้นด้วยสิทธิ์ประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย
“ด้วยความทุ่มเทในงานบริการผู้ป่วยและงานวิจัย โดยทำวิจัยพื้นฐานจากงานประจำในการบริการผู้ป่วย และได้นำผลงานวิจัยมาประยุกต์ใช้จริงในการพัฒนาปรับปรุงการดูแลรักษาผู้ป่วยในบริบทของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงอำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ ท่านเคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2544 – 2554 ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์แพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2551 – 2554 และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2554 – 2556

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงอำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ ท่านเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยโลหิตวิทยาและโรคมะเร็งในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในอดีตผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาโดยการฉีดยาเข้าน้ำไขสันหลังบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันการกลับมาของโรค และผู้ป่วยมีโอกาสรอดไม่ถึงร้อยละ 50 อีกทั้งผู้ป่วยต้องแบกรับภาระค่ารักษาที่ค่อนข้างสูง และในส่วนของผู้ป่วยโรคเลือดที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่เป็นปัญหาเรื้อรัง ก็มีจำนวนมาก คือ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียในคนไทยมีพันธุ์แฝง หรือปัจจุบันเรียกธาลัสซีเมียแฝงร้อยละ 40 ของประชากร หมายถึง ใน 10 คน มีพันธุ์แฝง 4 คน หาก 4 คนดังกล่าวได้แต่งงานและมีลูกก็จะเป็นโรคธาลัสซีเมีย นั่นหมายถึงร้อยละ 1 ของประชากร หากคนไทยมี 60 ล้านคน ใน 6 แสนคนก็เป็นโรคนี้ ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ใน 1 แสนคนเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือดทุกเดือนหรือทุก 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับชนิดของโรคธาลัสซีเมียที่ผู้ป่วยเป็น บางคนมีอาการซีด ตัวเหลือง ตาเหลือง หน้าตาเปลี่ยน หากได้รับเลือดทดแทนไม่เพียงพอ อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่พบมาก คือ โรคเลือดออกง่าย ฮีโมฟีเลีย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เป็นตลอดชีวิต ในอดีตการรักษาโรคฮีโมฟีเลียยังไม่ค่อยมีมากนัก ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น เป็นปัญหาคนไข้ล้น เตียงไม่พอ จากปัญหาผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคเลือด และโรคฮีโมฟีเลีย ทำให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงอำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ มีแนวคิดในการรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย ดูแลคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีได้ รวมทั้ง การสร้างระบบสุขภาพแบบองค์รวมอย่างครบวงจรและยั่งยืน โดยท่านได้นำความรู้และประสบการณ์จากการเข้ารับการอบรมแพทย์เฉพาะทางในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในการรักษาดูแลผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย ท่านได้ศึกษาวิจัยและให้การดูแลรักษาโรคฮีโมฟีเลีย ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง การวินิจฉัย การรักษา สิ่งสำคัญคือ การป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่ในครอบครัว ด้วยวิธีการให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยส่วนประกอบของเลือด/แฟคเตอร์เข้มข้น หากเริ่มมีอาการเลือดออกที่บ้านหรือโรงพยาบาลภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยสอนให้ผู้ป่วย หรือผู้ปกครองฉีดส่วนประกอบของเลือด แฟคเตอร์เข้มข้นหลอดเลือดดำด้วยตนเอง และขยายผลสู่ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียทั่วประเทศ ด้วยความร่วมมือจาก 4 องค์กร ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้ง การให้การรักษาแบบป้องกันให้แก่ผู้ป่วยเด็กเล็กโรคฮีโมฟีเลีย โดยความร่วมมือของผู้ปกครองและผู้ป่วยในการป้องกันอาการเลือดออก ฉีดแฟคเตอร์เข้มข้นสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ในขนาด 10-20 ยูนิต/กก./ครั้ง โดยได้ดัดแปลงวิธีการรักษาของประเทศตะวันตกที่ให้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ขนาด 25-40 ยูนิต/กก./ครั้ง ปรากฏว่าได้ผลดี ผู้ป่วยโรคฮีโมเฟียและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ป่วยสามารถไปโรงเรียน ผู้ปกครองสามารถไปทำงานได้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยทรัพยากรที่จำกัดในระบบสาธารณสุขไทยอย่างเหมาะสม เป็นการดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียแบบองค์รวมอย่างครบวงจร

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงอำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ ท่านเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม ผลักดันการดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียเป็นนโยบายแห่งชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน (Maintainable and sustainable national policy) โดยโครงการโรคฮีโมฟีเลีย เป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง ท่านได้ให้การดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 39 ปี โดยนำปัญหาผู้ป่วยมาวิเคราะห์ แก้ปัญหาในรูปแบบงานวิจัย นำผลงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการบริการผู้ป่วยและมีการวิจัยต่อยอด จนสามารถนำเสนอสานต่อเป็นนโยบายแห่งชาติจนกระทั่งปัจจุบัน โครงการโรคฮีโมฟีเลียช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้อง admission ในโรงพยาบาล ทำให้ลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล โครงการฯ ดังกล่าวได้ดำเนินมาเป็นเวลา 17 ปีแล้ว นับได้ว่าท่านเป็นแพทย์ที่มีความทุ่มเทเสียสละในการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย และได้สร้างผลงานทางวิชาการวารสาร วิทยานิพนธ์ หนังสือตำรา ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ได้รับการเชิดชูเกียรติ และได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงอำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ ได้กล่าวเพิ่มเติม โดยขอขอบคุณสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์ ที่ให้เกียรติและมองเห็นคุณค่าของงานการวิจัยที่นำไปสู่การบริการคนไข้อย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนงานการวิจัยของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งการวิจัยมีตั้งแต่การศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการ Bench Research จนถึงงานวิจัยเชิงระบบ ขอบคุณคณะกรรมการฯ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการทำงานวิจัยระดับ Bench to Practice และเห็นประโยชน์ของงานการวิจัยนำมาสู่งานการปฏิบัติจริงนำไปสู่นโยบายแห่งชาติ